โนโรไวรัสเป็นไวรัสที่รู้จักกันมานาน เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียเฉียบพลันที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งมักจะระบาดในช่วงฤดูหนาว การติดเชื้อสามารถพบได้ในทุกเพศ และทุกช่วงอายุ

ทำความรู้จักโนโรไวรัส

โนโรไวรัสลักษณะอย่างไร

โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสขนาดเล็กชนิดหนึ่งมีรูปร่างคล้ายถ้วย ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการอักเสบของกระเพาะและลำไส้ ซึ่งพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากเด็กยังไม่ระมัดระวังในเรื่องของการรักษาความสะอาดต่าง ๆ จึงทำให้พบการระบาดของโรคโนโรไวรัสในเด็กได้บ่อย ๆ การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มักพบได้บ่อยในฤดูหนาว และมักพบในโรงเรียน โรงแรม หรือในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน

โนโรไวรัสเป็นไวรัสที่เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ทำให้มีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง ยิ่งหากภูมิต้านทานต่ำอาการอาจหนักและร้ายแรงจนเสียชีวิตได้ และเนื่องจากพบมากในเด็กซึ่งยังเป็นวัยที่ไม่รู้จักการป้องกันการติดเชื้อ หรือการรักษาความสะอาดอย่างเหมาะสม จึงทำให้มักพบการระบาดอย่างรวดเร็วในโรงเรียนหรือในสถานรับเลี้ยงเด็ก

โนโรไวรัสเป็นไวรัสที่ติดต่อได้ง่าย การได้รับเชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เกิดโรคและมีอาการรุนแรงได้ นอกจากนี้ยังเป็นไวรัสที่ทนต่ออุณภูมิ คือสามารถทนได้ทั้งความเย็นและความร้อน และสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานอีกด้วย

อาการเมื่อติดเชื้อโนโรไวรัส

เชื้อโนโรไวรัสจะมีระยะฟักตัวประมาณ 12 - 48 ชั่วโมง หลังได้รับเชื้อ โดยจะมีอาการ ได้แก่

  • คลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง
  • ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
  • ปวดท้อง
  • ปวดศีรษะ
  • มีไข้ต่ำ ๆ หรืออาจมีไข้สูงได้ในบางราย
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • หากมีการเสียน้ำมาก ๆ อาจมีอาการช็อกได้

การระบาดและการติดต่อของโนโรไวรัส

เชื้อโนโรไวรัสมักจะมีการระบาดในฤดูหนาว มักพบการระบาดในสถานที่ที่มีคนหนาแน่น และคนพลุกพล่าน เช่น ในโรงเรียน โรงแรม หรือแม้แต่ในโรงพยาบาล โดยเชื้อโนโรไวรัสนี้จะสามารถอยู่ในร่างกายผู้ป่วยได้นานเป็นสัปดาห์ อีกทั้งจะยังสามารถตรวจพบเชื้อโนโรไวรัสได้ในอุจจาระของผู้ป่วยได้แม้ว่าจะไม่มีอาการของโรคแล้วก็ตาม

เชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อได้ง่าย แพร่ระบาดได้เร็ว การได้รับเชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้มีอาการได้ โดยการติดต่อสามารถติดต่อได้หลายทาง ได้แก่

  • การได้รับเชื้อผ่านทางการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัส เช่น น้ำดื่ม น้ำแข็ง ผลไม้และผักสด และหอยนางรม เป็นต้น
  • มีการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
  • การสัมผัสหรือปนเปื้อนอุจจาระ หรืออาเจียนของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
  • การสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อโนโรไวรัสปนเปื้อนอยู่ 
  • ในเด็ก อาจมีการจับหรือสัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้อแล้วเอานิ้วเข้าปาก

การฆ่าเชื้อโนโรไวรัส

ป้องกันติดเชื้อโนโรไวรัสด้วย อ็อกซิเวียร์ (Oxivir)

เนื่องจากเชื้อโนโรไวรัสเป็นเชื้อที่ทนต่อความร้อนและความเย็น ทนต่อสารฆ่าเชื้อหลาย ๆ ชนิด สามารถอยู่บนพื้นผิวได้นาน ดังนั้นจึงถือว่าเป็นเชื้อที่ทำลายได้ยากชนิดหนึ่ง การใช้แอกอฮอล์เจลไม่สามารถฆ่าเชื้อชนิดนี้ได้ 

ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC) มีการแนะนำให้ใช้สารฟอกขาว หรือโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (sodium hypochlorite) และสารเคมีชนิดอื่นในการฆ่าเชื้อโนโรไวรัสที่ปนเปื้อนอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ แต่ปัญหาหนึ่งของการใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์คือ มีกลิ่นฉุนค่อนข้างรุนแรงและระคายเคืองต่อผิวหนัง การใช้สารในกลุ่มไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการฆ่าเชื้อโนโรไวรัส

และปัจจุบันมีการพัฒนาคุณภาพสารฆ่าเชื้อในกลุ่มไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ ให้อยู่ในรูปของ Accelerated Hydrogen Peroxide-based (AHP) ที่มีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรคโนโรไวรัสได้ดีขึ้น

การป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่รักษาและป้องกันเชื้อโนโรไวรัสได้โดยเฉพาะ และเจลแอลกอฮอล์ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อชนิดนี้ได้ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยรอบตัว ซึ่งทำได้โดย

  • ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดเป็นประจำหลังเข้าห้องน้ำ และหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม
  • ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดเป็นประจำ ก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือประกอบอาหาร
  • ล้างผักและผลไม้สดให้สะอาดก่อนรับประทาน 
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสควรงดการประกอบอาหาร 
  • ทำความสะอาดพื้นผิวที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัสด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่เหมาะสม
  • เด็กที่ป่วยด้วยโนโรไวรัสควรหยุดเรียนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ จนกว่าอาการจะดีขึ้นแล้วอย่างน้อย 48 ชั่วโมง