ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต้องมีมาตรการรับมือ โดยจากสถิติปี 2019 พบว่าเชื้อดื้อยาเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากถึงราว 4.95 ล้านคนทั่วโลก และข้อมูลของประเทศไทยการศึกษาเบื้องต้นพบมีการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 88,000 ราย เสียชีวิตประมาณปีละ 38,000 ราย ซึ่งเชื้อดื้อยานี้มักเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ไม่สามารถกำจัดได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ตามปกติ

เชื้อดื้อยา คืออะไร?

เชื้อดื้อยา คือเชื้อโรคที่สามารถทนทานต่อยาปฎิชีวนะที่เคยใช้ได้ผลในการฆ่าเชื้อชนิดนั้นมาก่อน ทำให้ยาปฎิชีวนะนั้น ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนั้นได้อีก เชื้อดื้อยามักเป็นเชื้อโรคในกลุ่มแบคทีเรีย สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน หากเป็นเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ก่อโรค เมื่อมีการติดเชื้อก็จะทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงและการรักษาก็จะซับซ้อนมากขึ้นด้วย

เชื้อดื้อยา เกิดจากอะไร?

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาคือการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ หรืออย่างไม่เหมาะสม เช่น เป็นหวัดแล้วกินยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เพราะโรคหวัดมักเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และมักจะหายได้เองเมื่อรักษาตามอาการ แต่จะมีความเชื่อว่าถ้ารู้สึกเจ็บคอ มีน้ำมูก ให้รับประทานยาปฏิชีวนะ หรือการรับประทานยาปฏิชีวนะเมื่อมีอาการท้องเสียบางวัน หรือมีการบาดเจ็บ เป็นแผล ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และแนะนำให้มีการรักษาตามอาการ

การซื้อยารับประทานเอง การแบ่งยากันใช้ หยุดยาเอง หรือรับประทานยาไม่ครบก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา

สาเหตุที่พบได้บ่อยอีกสาเหตุหนึ่งคือ การใช้ยาปฏิชีวนะ หรือนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ก็เพิ่มความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้

เชื้อดื้อยา อันตรายไหม?

เชื้อดื้อยา อันตรายไหม?

การติดเชื้อดื้อยามีอันตรายต่อสุขภาพและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ การติดเชื้อดื้อยาจะทำให้ยาปฏิชีวนะที่เคยฆ่าเชื้อได้ ไม่สามารถฆ่าเชื้อนั้นได้อีกต่อไป จำเป็นต้องใช้ยาตัวอื่นที่อาจให้ผลการรักษาที่ด้อยกว่า มีพิษและผลข้างเคียงมากกว่า และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ายาที่เคยใช้แล้วได้ผล ซึ่งหากมีการดื้อยาซ้ำอีก ก็จะทำให้การรักษายากขึ้นอีก หรืออาจไม่มียาปฏิชีวนะที่สามารถฆ่าเชื้อนั้นได้อีก

นอกจากนี้หากมีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อจะทำให้แบคทีเรียตัวดีที่อาศัยอยู่ในร่างกาย ที่คอยรักษาสมดุลของร่างกายซึ่งพบที่ ผิวหนัง ช่องปาก และทางเดินอาหาร ถูกทำลายไป แต่เชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาจะยังมีชีวิตอยู่ได้ และเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้ร่างกายเสียสมดุลและเป็นโรคต่าง ๆ ตามมา

เชื้อดื้อยานอกจากจะก่อโรคในผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้ว ยังสามารถปนเปื้อนในอาหาร น้ำ และสิ่งแวดล้อม และแพร่กระจายไปยังผู้อื่น แล้วทำให้ผู้อื่นป่วยเป็นโรคติดเชื้อดื้อยาได้อีกด้วย

เชื้อดื้อยามีอะไรบ้าง?

ฆ่าเชื้อดื้อยาด้วย อ็อกซิเวียร์ (oxivir)

แบคทีเรียดื้อยาที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • Methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA) ทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบ ปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ การติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) และการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ (infective endocarditis) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล
  • Vancomycin-resistant Enterococcus (VRE) ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ในแผล และในกระแสเลือด
  • Multi-drug-resistant Mycobacterium tuberculosis (MDR-TB) เป็นเชื้อวัณโรคที่ดื้อยาหลายขนาน ทำให้การรักษายากและซับซ้อน
  • Carbapenem-resistant Enterobacteriaceae (CRE) gut bacteria ทำให้เกิดอาการ เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มีไข้ ปอดอักเสบ ภาวะร่างกายขาดออกซิเจน ติดเชื้อในกระแสเลือด และภาวะช็อก

นอกจากนี้ยังมีเชื้อตัวอื่น ๆ ที่มักพบว่าดื้อยาได้อีกหลายตัว ตามรายงานของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC)

เชื้อดื้อยาสามารถติดต่อได้ไหม?

เชื้อดื้อยาสามารถแพร่กระจาย และทำให้เกิดโรคติดเชื้อในผู้อื่นได้ โดยการแพร่กระจายของเชื้อมีได้หลายทาง เช่น

  • การปนเปื้อนจากอุจจาระ ปัสสาวะ และผิวหนังผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
  • การปนเปื้อนของใช้ต่าง ๆ 
  • การปนเปื้อนที่พื้นผิวและสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวผู้ป่วย

การติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล

การติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล หมายถึง การติดเชื้อที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 2 วัน และมีการติดเชื้อดื้อต่อยาที่เคยมีประสิทธิภาพต่อเชื้อชนิดนั้นมาก่อน โดยเป็นยาที่มีใช้ในปัจจุบันตั้งแต่ 3 กลุ่มขึ้นไป ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในปัจจุบัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากสาเหตุที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

รู้ได้อย่างไรว่าเชื้อดื้อยา

ปกติแล้วจะไม่สามารถทราบได้ว่ามีเชื้อดื้อยาอยู่ในร่างกายหรือไม่ ต้องมีการตรวจและเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการว่าเป็นเชื้อชนิดใด แต่มีข้อสังเกตเบื้องต้นคือ เมื่อมีอาการป่วย แล้วมีการรักษาแต่อาการไม่ดีขึ้น ก็อาจสงสัยได้ว่ามีการติดเชื้อดื้อยา

การป้องกันเชื้อดื้อยา

  • ไม่รับประทานยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ
  • รับประทานยาตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด 
  • ล้างมือบ่อย ๆ เพราะเชื้อดื้อยามักบนผิวหนัง การล้างมือบ่อย ๆ สามารถลดการแพร่กระจายเชื้อผ่านการสัมผัสได้
  • แยกห้องผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อดื้อยาออกจากผู้ป่วยรายอื่น
  • ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยา
  • แยกข้าวของเครื่องใช้ของผู้ที่ติดเชื้อดื้อยา เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
  • ทำความสะอาดพื้นผิว และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงอุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม เช่น 
    •  ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide)
    • แอลกอฮอล์ 70% 
    • โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (sodium hypochlorite)
    • สารในกลุ่มควอเทอร์นารีแอมโมเนียม (quaternary ammonium compounds ;QACs.quats) หรือ ควอท

ซึ่งแอลกอฮอล์ 70% โซเดียมไฮโปคลอไรท์ และควอท จะจัดอยู่ในสารเคมีกลุ่ม low-level ในณะที่ ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์จะจัดอยู่ในกลุ่ม high-level ทำให้มีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อดีกว่า 

และปัจจุบันมีการพัฒนาคุณภาพสารฆ่าเชื้อในกลุ่มไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ ให้อยู่ในรูปของ accelerated hydrogen peroxide-based (AHP) ที่ทำให้มีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้น้ำยาฆ่าเชื้อควรเลือกตามความเหมาะสมกับเชื้อแต่ละชนิด อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อกลุ่ม Oxivir  ที่สามารถฆ่าเชื้อเหล่านี้ได้