ในยุคปัจจุบันกระดาษเช็ดทำความสะอาด (wet wipe) หรือที่เรามักเรียกกันว่า “ทิชชู่เปียก” เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่เราใช้กันมากขึ้น เพราะสะดวกต่อการใช้งาน ใช้เช็ดทำความสะอาดได้ดี แต่ยังมีแผ่นเช็ดทำความสะอาดอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับทิชชู่เปียก ซึ่งมีข้อบ่งชี้ในการใช้งานที่แตกต่างออกไป คือ “แผ่นเช็ดฆ่าเชื้อ” จนทำให้บางครั้งหลายคนอาจเข้าใจผิดว่า แผ่นเช็ดฆ่าเชื้อคือทิชชู่เปียก แล้วเราจะแยกความแตกต่างของ “ทิชชู่เปียก” และ “แผ่นเช็ดฆ่าเชื้อ” ได้อย่างไร?

เทียบความแตกต่างทิชชู่เปียกและแผ่นฆ่าเชื้อ

ทิชชู่เปียก

ทิชชู่เปียก หรือ wet wipe เป็นผ้าหรือกระดาษที่มีส่วนผสมของน้ำ สารลดแรงตึงผิว สารให้ความชุ่มชื้น และอาจมีส่วนผสมของสารบำรุงผิว น้ำหอม แอลกอฮอล์ความเข้มข้นต่ำ ๆ หรือสารกันเสีย โดยสารที่เป็นส่วนประกอบหลัก ๆ ได้แก่

  • น้ำ (water):  น้ำเป็นส่วนประกอบหลัก ทำหน้าที่เป็นตัวพา ตัวทำละลาย และตัวเจือจางส่วนผสมอื่น ๆ ช่วยทำละลาย และทำให้คราบสกปรกหลุดออกจากผิวหนัง หรือพื้นผิวของสิ่งของต่าง ๆ
  • สารลดแรงตึงผิว (surfactants): มักพบเป็นส่วนผสมของทิชชู่เปียก โดยจะทำหน้าที่ลดแรงตึงผิวของน้ำ ช่วยให้กำจัดคราบ หรือส่งสกปรกได้ง่ายขึ้น เช่น คราบดิน โคลนที่อยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ หรือคราบสกปรกบนผิวหนัง
  • สารให้ความชุ่มชื้น (moisturizing substances): ช่วยเติมความชุ่มชื้น ลดการเสียน้ำจากผิวหนัง ป้องการการเกิดอาการผิวแห้งหลังการใช้งาน
  • สารปรับค่า pH (pH adjustment): เนื่องจากทิชชู่เปียกมักใช้เช็ดผิวหนัง จึงมักพบสารปรับค่า pH ในส่วนผสมของทิชชู่เปียก เพื่อปรับสมดุลค่า pH ของผิวหนัง (ค่า pH ประมาณ 4.5 -5.0) ซึ่งสารที่ใช้ เช่น กรดซิตริกหรือโซเดียมซิเตรต

เรามักใช้ทิชชู่เปียกในการเช็ดหน้า เช็ดมือ หรือทำความสะอาดพื้นผิวที่ต้องการทำความสะอาดแบบรวดเร็วและมีความสกปรกไม่มาก ทิชชู่เปียกสามารถใช้ทำความสะอาดผิวหนัง มือ หรือพื้นผิวต่าง ๆ ได้แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ เนื่องจากไม่มีส่วนผสมของสารฆ่าเชื้อ

แผ่นเช็ดฆ่าเชื้อ

แผ่นเช็ดฆ่าเชื้อ (disinfectant wipe) เป็นผ้าหรือกระดาษเหมือนกับทิชชู่เปียก แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อฆ่าเชื้อโรค และทำความสะอาดพื้นผิวที่มีหรือสงสัยว่ามีเชื้อโรค แบคทีเรีย หรือไวรัส มักประกอบด้วยสารฆ่าเชื้อโรคที่ใช้สำหรับการฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวสิ่งของ (disinfectant) หรือสารทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่สามารถใช้เช็ดผิวหนังร่างกายภายนอกได้ (antiseptics) เช่น แอลกอฮอล์ในความเข้มข้นที่สามารถทำลายเชื้อโรค หรือสารเคมีอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อโรคได้

  • ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) เป็น disinfectant ที่มีประสิทธิภาพระดับสูง สามารถฆ่าเชื้อได้หลายชนิดทั้งแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และรวมไปถึงเชื้อที่มีสปอร์ที่ทนทาน อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน สามารถใช้เช็ดฆ่าเชื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ได้ และปัจจุบันมีการพัฒนาคุณภาพสารฆ่าเชื้อในกลุ่มไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ ให้อยู่ในรูปของaccelerated hydrogen peroxide-based (AHP) ที่ทำให้มีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อได้ดีขึ้น และสามารถใช้เช็ดทำความสะอาดได้เลยโดยไม่ต้องเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวเบื้องต้นก่อน
  • โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (sodium hypochlorite) เป็นสารเคมีอีกตัวหนึ่งที่เป็น disinfectant ที่มีประสิทธิภาพระดับสูง เป็นสารที่มีกลิ่นฉุนและอาจระคายเคืองต่อผิวหนังหากมีการสัมผัสโดยตรง
  • สารในกลุ่มควอเทอร์นารีแอมโมเนียม (quaternary ammonium compounds; QACs.quats) หรือ ควอท เป็นสารที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อในระดับระดับต่ำ สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกได้ดี แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพต่อแบคทีเรียแกรมลบ ใช้ได้ทั้งเป็น disinfectant และ antiseptic มีคำแนะนำว่าไม่ควรใช้น้ำยาชนิดนี้ในการทำลายเชื้อบนผิวหนังและเนื้อเยื่อ เนื่องจากฤทธิ์ที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียแกรมลบได้ไม่ค่อยดี จึงอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่ดื้อยา และอาจทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาได้
  • กรดเปอร์อะซิติก (peracetic acid) หรือ peroxyacetic acid (PAA) เป็นสารเคมีที่ใช้เป็น disinfectant ที่มีประสิทธิภาพระดับสูง ฆ่าเชื้อโรคได้หลายชนิด แต่กรดเปอร์อะซิติกมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง ดังนั้นจึงควรใช้ที่ความเข้มข้นที่เหมาะสมสำหรับการฆ่าเชื้อโรค ก็จะช่วยลดฤทธิ์การกัดกร่อนได้ นอกจากนี้กรดเปอร์อะซิติกเป็นสารเคมีที่มีกลิ่นฉุน กลิ่นจึงอาจรบกวนขณะใช้งานได้
  • แอลกอฮอล์ (alcohol) เป็นสารเคมีพื้นฐานที่เราใช้ในการทำลายเชื้อโรค โดยความเข้มข้นที่เหมาะสมในการทำลายเชื้อโรคคือ ความเข้มข้นที่60%–90% สามารถใช้ได้ทั้งเป็น disinfectant และ antiseptics เป็นสารเคมีที่ปลอดภัยต่อผิวหนัง แต่มีข้อจำกัดคือ เป็นสารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพต่ำ ไม่สามารถทำลายเชื้อบางชนิดได้ เช่น เชื้อแบคทีเรียที่มีสปอร์ และเชื้อดื้อยาบางชนิด และไม่สามารถใช้ความสะอาดอุปกรณ์การแพทย์บางชนิด เช่น หัวตรวจของเครื่องอัลตราซาวนด์ เพราะทำให้เกิดความเสียต่อหัวตรวจได้

แผ่นเช็ดฆ่าเชื้อถือเป็นทางเลือกในการทำความสะอาดพื้นผิวที่มีเชื้อโรค หรือพื้นผิวที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรค เพราะใช้ง่าย สะดวก และช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อโรคข้ามระหว่างบุคคล

จะทราบได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ไหนคือทิชชู่เปียก และผลิตภัณฑ์ไหนคือแผ่นเช็ดฆ่าเชื้อ?

สามารถสังเกตได้จากฉลากของผลิตภัณฑ์ อย่างที่กล่าวข้างต้น “ทิชชู่เปียก” ใช้ในการเช็ดทำความสะอาดธรรมดา เช่น การเช็ดหน้า เช็ดมือ ใช้เช็ดทำความสะอาดผิวหนังหรือพื้นผิวอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิด

ในขณะที่แผ่นเช็ดฆ่าเชื้อเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรคและทำความสะอาดพื้นผิวที่มีเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย หรือไวรัส ดังนั้นการเลือกใช้งานระหว่างทิชชู่เปียกและแผ่นเช็ดฆ่าเชื้อจึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน

ประโยชน์และข้อดีการใช้แผ่นเช็ดฆ่าเชื้อ

การใช้แผ่นเช็ดฆ่าเชื้อมีข้อดีและประโยชน์ที่สำคัญ คือ

  • ทำความสะอาด และทำลายเชื้อโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการแพร่เชื้อโรค และช่วยลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคข้ามระหว่างบุคคล
  • ใช้งานได้สะดวก
  • เหมาะกับการใช้งานในทุกสถานที่ เช่น ที่บ้าน ที่ทำงาน ในสถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล ร้านอาหาร หรือในสถานที่ท่องเที่ยว
  • ช่วยในการป้องกันการระบาดของโรคต่าง ๆ

การเลือกใช้แผ่นเช็ดฆ่าเชื้อ

วิธีเลือกใช้แผ่นเช็ดฆ่าเชื้อ

สามารถพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้ในการเลือกใช้แผ่นเช็ดฆ่าเชื้อ

  • สารฆ่าเชื้อที่ใช้: ควรตรวจสอบส่วนประกอบของสารฆ่าเชื้อที่ใช้ในแผ่นเช็ด โดยควรเลือกสารที่มีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรคที่ตรงกับเชื้อโรคนั้น ๆ
  • ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ: ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองหรือมีข้อมูลประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคอย่างชัดเจน
  • ความสะดวกสบายในการใช้งาน: ควรเลือกแผ่นเช็ดฆ่าเชื้อที่ใช้งานง่าย อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อการใช้งาน หรือสามารถพกพาได้
  • ประสิทธิภาพที่ยาวนาน: ควรพิจารณาถึงความคงทนของแผ่นเช็ดฆ่าเชื้อ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความทนทานและให้ประสิทธิภาพที่ยาวนาน ซึ่งจะช่วยประหยัดทรัพยากรและค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อได้
  • ความเหมาะสมกับการใช้งาน: ควรพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เช่น สำหรับใช้ที่บ้านหรือที่ทำงานซึ่งอาจต้องการความสะอาดระดับหนึ่ง หรือสถานที่ที่ต้องการความสะอาดและการป้องกันการแพร่เชื้อโรคในระดับสูง เช่น ในโรงพยาบาล ดังนั้นควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการใช้งานนั้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

สรุป

การเลือกใช้งานระหว่างทิชชู่เปียกและแผ่นเช็ดฆ่าเชื้อจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่น ทิชชู่เปียกอาจเป็นตัวเลือกที่ดีเมื่อต้องการเพียงการทำความสะอาดทั่วไป แต่ถ้าต้องการการฆ่าเชื้อโรคและทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แผ่นเช็ดฆ่าเชื้อก็จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่า

แต่อย่างไรก็ตามทั้งทิชชู่เปียกและแผ่นเช็ดฆ่าเชื้อถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลในเรื่องความสะอาด ซึ่งควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับจุดประสงค์การใช้งาน