ทุกวันนี้เรามีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือที่เรียกกันว่า “ยาฆ่าเชื้อ” กันอย่างแพร่หลาย แต่ทราบหรือไม่ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกวิธีหรือได้รับยาปฏิชีวนะนานเกินไปสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงได้ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่ว่านี้คือเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Clostridium difficile หรือเรียกสั้น ๆ ว่า C. difficile
เชื้อแบคทีเรีย C. difficile (C. diff) คืออะไร?
เชื้อแบคทีเรีย Clostridium difficile หรือ Clostridiodes difficile (C. difficile หรือ C. diff) คือแบคทีเรียก่อโรคชนิดหนึ่ง เป็นแบคทีเรียแกรมบวก รูปร่างเป็นแท่ง เป็นแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิต (anaerobic gram-positive bacilli) เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ผลิตสปอร์ที่ทนต่อความร้อนและกรด ทำให้เชื้อคงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้เป็นเวลานาน การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงและลำไส้อักเสบได้
การติดเชื้อแบคทีเรีย C. difficile มีความสัมพันธ์กับการใช้ยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะกลุ่มที่ออกฤทธิ์แบบกว้าง (broad-spectrum antibiotics) การได้รับยาปฏิชีวนะในระยะยาว จะส่งผลทำให้เชื้อแบคทีเรียประจำถิ่น (normal flora) ในทางเดินอาหารลดลง ซึ่งแบคทีเรียประจำถิ่นเหล่านี้ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ C. difficile ทำให้เชื้อ C. difficile แบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วสร้างสารพิษ (toxin) ที่ทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเกิดเป็นพังผืดของเยื่อบุทางเดินอาหาร (Pseudomembranous colitis) ได้
การระบาดและการติดต่อของเชื้อ C. difficile
ในทางการแพทย์มีการเรียกการติดเชื้อ C. difficile ว่า C. difficile infection (CDI) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลที่พบได้บ่อย ที่มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงคือประมาณ 15-20% จึงถือว่าเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของการติดเชื้อในโรงพยาบาล
เชื้อแบคทีเรีย C. difficile จะอยู่ในอุจจาระ ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านทางการสัมผัส การปนเปื้อนในอาหาร หรือพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนแบคทีเรียชนิดนี้
เชื้อ C. difficile นี้สามารถสร้างสปอร์ได้ ซึ่งสปอร์ของเชื้อมีความทนทาน อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 5 เดือน สามารถทนความร้อน ความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ยาปฏิชีวนะ และทนน้ำยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ยังไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยแอลกอฮอล์
ในผู้ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงเชื้อ C. difficile สามารถสร้างสปอร์ในระบบทางเดินอาหารได้แต่จะไม่ทำให้เกิดอาการป่วย ในขณะที่ผู้ที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อสปอร์ผ่านกระเพาะอาหารลงไปจนถึงลำไส้ แล้วถูกกระตุ้นโดยกรดน้ำดี (bile acid) จะทำให้สปอร์งอกออกมาเป็นเชื้อได้ (vegetative cell) แล้วทำให้เกิดอาการป่วยตามมา
ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ C. difficile
- ผู้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน
- ผู้ที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
- ผู้ที่อยู่ในบ้านพักคนชรา
- ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ลำไส้อักเสบ มะเร็ง เบาหวาน หรือโรคที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง
- ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์
อาการเมื่อติดเชื้อ C. difficile
การติดเชื้อแบคทีเรีย C. difficile ทำให้เกิดอาการได้หลากหลาย ได้แก่
- ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง อาจไม่มีอาการแต่จะเป็นพาหะในการแพร่เชื้อได้
- ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ
- ไข้สูง
- คลื่นไส้
- ปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลด
- หากอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้
การกำจัด C. difficile
เนื่องจากเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทนต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นแบคทีเรียที่สร้างสปอร์ได้ ทำให้ C. difficile สามารถอยู่บนพื้นผิวได้นาน การใช้แอลกอฮอล์เจลไม่สามารถทำลายสปอร์ของเชื้อชนิดนี้ได้ ดังนั้นจึงถือว่าเป็นเชื้อที่ทำลายได้ยากชนิดหนึ่ง
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของประเทศสหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Agency; EPA) มีการแนะนำสารเคมีหลาย ๆ ชนิดเพื่อกำจัดเชื้อ C. difficile เช่น ใช้สารฟอกขาวหรือโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (sodium hypochlorite) กรดเปอร์อะซิติก (peracetic Acid) และไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) ในการกำจัดเชื้อ C. difficile ที่ปนเปื้อนอยู่บนพี้นผิวต่าง ๆ แต่ปัญหาหนึ่งของการใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์และกรดเปอร์อะซิติกคือ มีกลิ่นฉุนค่อนข้างรุนแรงและระคายเคืองต่อผิวหนัง การใช้สารในกลุ่มไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการกำจัดเชื้อ C. difficile
และปัจจุบันมีการพัฒนาคุณภาพสารฆ่าเชื้อในกลุ่มไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ ให้อยู่ในรูปของ Accelerated Hydrogen Peroxide-based (AHP) ที่ทำให้มีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรคดียิ่งขึ้น
การป้องกันการติดเชื้อ C. difficile
- ล้างมือบ่อย ๆ อย่างถูกต้อง โดยยึดหลักการล้างมืออย่างถูกวิธีอย่างน้อย 20 วินาที เพราะการล้างมือจะช่วยชะล้างเชื้อ C. difficile และสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้
- รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล
- จำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะ และใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม หรือตามคำแนะนำของแพทย์
- ล้างมือก่อน-หลัง เข้าห้องน้ำ
- หมั่นล้างมืออย่างถูกวิธีบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร
- ล้างมือหลังการสัมผัสพื้นผิวหรือสิ่งของสาธารณะ
- ทำความสะอาดพื้นผิวที่สงสัยว่าจะมีการปนเปื้อนเชื้อ C. difficile ด้วยสารทำความสะอาดอย่างเหมาะสม