คุยเรื่องการควบคุมการติดเชื้อและสุขอนามัยของมือกับศาสตราจารย์ ดิดิเยร์ พิเทต์

Hand Hygiene Discussion Blog Hand Hygiene Discussion Blog
Emma Barrett
Global Market Associate Director for Healthcare and Infection Prevention
Dec 11, 2021

เอมมา บาร์เร็ต ผู้จัดการฝ่ายการตลาดส่วนกลางด้านธุรกิจดูแลสุขภาพและการป้องกันการติดเชื้อจากไดเวอร์ซี่ มีโอกาสได้พูดคุยกับศาสตราจารย์ ดิดิเยร์ พิเทต์ ไปเมื่อช่วงก่อนหน้าวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันสุขอนามัยมือโลก โดยได้รับฟังความเห็นของศาสตราจารย์เกี่ยวกับโครงการนี้ รวมไปถึงการสำรวจข้อมูลจากทั่วโลกโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)

คำถาม #1 จากไดเวอร์ซี่: ดิฉันอยากขอให้ท่านศาสตราจารย์แนะนำตัวเองสักเล็กน้อย และเล่าบทบาทของท่านในการทำงานกับศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกค่ะ
Professor Didier Pittet

ศาสตราจารย์ ดิดิเยร์ พิเทต์: ครับ ผมชื่อ ศาสตราจารย์ ดิดิเยร์ พิเทต์ ผมมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโครงการควบคุมการติดเชื้อประจำโรงพยาบาลและคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเจนีวามาแล้วหลายปี โครงการนี้เป็นโครงการที่ผมเริ่มขึ้นเมื่อปี 1992 โดยผมเองมีโอกาสได้ร่วมทำงานกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ในด้านต่างๆ มาพอสมควร งานสำคัญที่ทำให้ผมได้เข้ามาร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับ WHO และกลายเป็นศูนย์ความร่วมมือของ WHO ในเวลาต่อมา ก็คืองานด้านการควบคุมการติดเชื้อและสุขอนามัยของมือ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของคนไข้ครับ 

 

ถ้าให้เล่าแบบเร็วๆ ก็คือ WHO มีการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเจนีวา เพื่อส่งเสริมแนวทางด้านสุขอนามัยของมือมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 แล้ว ซึ่งแนวทางนี้ก็ได้ถูกนำมาใช้โดยโรงพยาบาลหลายแห่งจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต่อมาในปี 2004 WHO ได้ติดต่อมาที่ผม เพื่อสอบถามว่า ผมสนใจที่จะสานต่อโครงการส่งเสริมสุขอนามัยของมือนี้ไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกหรือไม่ รวมทั้งต้องการที่จะเป็นเจ้าภาพโครงการ “ส่งเสริมความปลอดภัยเพื่อคนไข้ทั่วโลก” ขององค์การอนามัยโลกด้วยหรือเปล่า ซึ่งแน่นอนครับ ผมตอบไปว่า โอเค โครงการนี้เป็นครั้งแรกที่เราจัดโครงการส่งเสริมความปลอดภัยของคนไข้ทั่วโลกขึ้นมา ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชาติต่างๆ ทั่วโลก 

 

สำหรับโครงการครั้งแรกนี้ เราได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ประกาศคำมั่นสัญญาในสามเรื่องต่อไปนี้:

  • ตระหนักถึงปัญหาการติดเชื้อภายในสถานพยาบาล (Healthcare Associated Infection หรือ HAI) ในโรงพยาบาลและสถาบันดูแลสุขภาพทั่วโลก 
  • ตระหนักถึงความสำคัญของสุขอนามัยของมือในการลดโอกาสเกิด HAI รวมทั้งตระหนักว่า แนวทางในลักษณะหลายรูปแบบ (Multi-Modal) ที่จัดทำขึ้นโดย WHO ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือของ WHO ในกรุงเจนีวานั้นสามารถที่จะช่วยส่งเสริมการดูแลสุขอนามัยของมือได้ ความสำเร็จของแนวทางดังกล่าวนั้นสามารถวัดได้จากอัตราการลดลงของ HAI และการขยายตัวของภาวะดื้อยาต้านจุลชีพ รวมไปถึงการตรวจสอบว่าแต่ละประเทศสามารถนำเอาแนวทางเหล่านี้ไปใช้ได้หรือไม่ 
  • เราได้ขอให้ประเทศต่างๆ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมและผลที่ได้ เพื่อให้เราสามารถรวบรวมองค์ความรู้จากทั่วโลกที่ได้จากโครงการนี้

 

 

เราเริ่มต้นแนวทางทั้งหมดข้างต้นไปเมื่อปี 2005 ซึ่งนับจนถึงปี 2019 เรามีประเทศสมาชิกสหประชาชาติรวม 142 ประเทศที่ได้ลงชื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมสุขอนามัยของมือ ในระหว่างนั้น เราก็ได้มีการจัดทำแนวทางต่างๆ ขึ้น เช่น คู่มือฉบับใหม่เพื่อสุขอนามัยของมือ รวมถึง เครื่องมือต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อเชื่อมโยงกับแนวทางหลายรูปแบบที่จัดทำขึ้น เพื่อต่อยอดเป็นแนวทางสากลสำหรับส่งเสริมสุขอนามัยของมือทั่วโลกต่อไป ซึ่งสำหรับแนวทางดังกล่าว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เรามีการสร้างความตระหนักของผู้คน ไม่ใช่แค่เฉพาะในการรับเอาแนวทางนี้มาใช้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ จนกระทั่งกลายเป็นที่มาของแนวคิดที่ผมขอเรียกว่า “ปรับเพื่อใช้

 

 คำถาม #2 จากไดเวอร์ซี่: คุณได้รับการขนานนามเป็น “นักปลุกปั่น สุขอนามัยมือ” คุณโอเคกับฉายานี้หรือเปล่าคะ แล้วคุณได้ฉายานี้มาได้อย่างไร

 

ศาสตราจารย์ ดิดิเยร์ พิเทต์: (หัวเราะ) ผมไม่ได้เป็นคนตั้งฉายานี้ขึ้นมาเองหรอกนะครับ แต่เป็นทีมงานของเท็ดทอล์กตั้งขึ้นมา ตอนแรกเขาเรียกผมแค่ “สุขอนามัยมือ” แต่ก็ฟังดูไม่น่าสนใจสักเท่าไร ทีมงานเขาอยากได้ชื่อที่มันน่าตื่นเต้นกว่านี้เพื่อจะดึงดูดคนให้เข้ามาฟัง ผมว่านั่นแหละคือเหตุผลที่เขาตั้งฉายา “นักปลุกปั่น สุขอนามัยมือ” ขึ้นมา ตอนแรกมีหลายคนที่ได้รับเสนอชื่อเป็นวิทยากรในวันนั้นนะครับ แต่สุดท้ายเป็นผมที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนจากสหประชาชาติให้พูดในเท็ดทอล์ก ก็เพราะว่าผมเป็นคนเดียวที่อยู่ในเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์อยู่แล้ว 

 

 

แต่ผมจะเป็นนักปลุกปั่นจริงๆ เหมือนที่เขาเรียกกันหรือเปล่า อันนี้ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ผมรู้ว่า วันที่เรานำเสนอการเปลี่ยนแปลงระบบครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางหลายรูปแบบในการเปลี่ยนจากการล้างมือด้วยสบู่และน้ำมาเป็นการถูมือด้วยแอลกอฮอล์แทน วันนั้นคือการปฏิวัติโลกเลยนะ! มีงานวิจัยหลายงานที่พูดถึงการปฏิวัติสุขอนามัยของมือ รวมถึงการปฏิวัติด้านการดูแลคนไข้ หลายคนรู้สึกว่า นี่แหละคือการปฏิวัติวงการดูแลสุขภาพ แล้วมันก็ใช่จริงๆ มันคือการปฏิวัติโลกใหม่หมด ฉะนั้นก็อาจจะพูดได้ว่า ผมอยู่กึ่งกลางระหว่างการเป็นนักปลุกปั่นกับการนำเสนอให้เกิดการปฏิวัติวงการดูแลสุขภาพใหม่ ผมคิดว่าคงมีแค่อย่างเดียวที่ทำได้ เพื่อให้ผมเหมาะกับฉายานี้แบบเต็มภาคภูมิ แต่ตอนนี้ ผมก็ไม่ค่อยชอบฉายานี้เท่าไรแล้วนะ เพราะจริงๆ แล้ว ผมเองก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นนักปลุกปั่นที่ไหน ผมน่ะเป็นนักนวัตกรรมแน่ๆ นักนวัตกรรมที่สร้าง “นวัตกรรมพลิกโลก” ด้วย หมายถึง คนที่สามารถทำให้การทำสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปจากวิธีการเดิมๆ ได้ งานวิจัยที่เราทำมาแล้วหลายปีก่อนหน้านั้นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเปลี่ยนจากการล้างมือด้วยสบู่และน้ำมาเป็นการถูมือด้วยแอลกอฮอล์เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการส่งเสริมสุขอนามัยของมือและพลิกโฉมให้กับการดูแลสุขภาพ

 

คำถาม #3 จากไดเวอร์ซี่: ทุกๆ ปี คุณทุ่มเทเวลาให้กับการส่งเสริมสุขอนามัยของมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการ 5 พฤษภาคม ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โครงการนี้จะมีหัวข้อหลักที่แตกต่างกันออกไป ดิฉันอยากให้คุณอธิบายเกี่ยวกับหัวข้อหลักของปีนี้ และบอกเราหน่อยว่า ทำไมโครงการนี้ถึงได้มีความสำคัญมากๆ

 

ศาสตราจารย์ ดิดิเยร์ พิเทต์: หัวข้อหลักของปีนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษกับเราจริงๆ โดยเฉพาะสำหรับผมในฐานะที่เป็นคนผลักดันหัวข้อนี้ แต่ก็ยังมีความสำคัญมากๆ ต่อองค์การอนามัยโลกโดยรวมด้วยเช่นกัน หัวข้อของปีนี้คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) และ “สุขภาพสำหรับทุกคน” ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะกับ ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ผมได้คุยกับ ดร. ทีโดรส เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อเตรียมคำแถลงสำหรับโครงการ 5 พฤษภาคม ปกติแล้ว ผมจะแถลงโครงการ 5 พฤษภาคมเองคนเดียวหรือร่วมกับ WHO แต่สำหรับปีนี้ ผมจะแถลงร่วมกับ ดร. ทีโดรส ซึ่งเป็นการแสดงอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากนี้ หัวข้อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “สุขภาพสำหรับทุกคน” ยังมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขอนามัยของมือเช่นกัน 

 

สิ่งที่เชื่อมโยงกันก็คือ ถ้าหากเราต้องการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้าหากเราต้องการหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพสำหรับทุกผู้คนทั่วโลก เราไม่สามารถที่จะทำได้หากปราศจากการดูแลสุขอนามัยมืออย่างถูกต้อง “การดูแลความสะอาดสำหรับทุกคน” จะเกิดขึ้นได้ก็จากการทำความสะอาดมือของเราเท่านั้น “การดูแลความสะอาดสำหรับทุกคน” หมายถึง “สุขภาพสำหรับทุกคน” นี่คือเหตุผลที่เราตั้งชื่อหัวข้อของเราว่า “ดูแลความสะอาดเพื่อทุกคน ทุกอย่างอยู่ในมือของคุณ” เพราะมันอยู่ในมือของทุกคนที่เราต้องการผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารสถานดูแลสุขภาพ ผู้ดูแลการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาล หรือแม้แต่คนไข้หรือกลุ่มสนับสนุนสิทธิคนไข้  

 

ในปีนี้ เราออกมาเรียกร้องให้ทุกคนดูแลความสะอาดของมือ รวมถึงคนไข้ด้วยเช่นกัน เราบอกคนไข้เสมอว่า มันเป็นสิทธิของคุณที่จะดูแลความสะอาดของมือ มันเป็นสิทธิของคุณที่จะทำเพื่อสุขภาพของทุกคนและดูแลความสะอาดเพื่อทุกคน สำหรับตัวผมเองแล้ว หัวข้อนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับทุกคนที่ WHO และโดยเฉพาะกับ ดร. ทีโดรส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO นี่คือเหตุผลสำคัญในการเชื่อมโยงหัวข้อในปีนี้เข้ากับโครงการของเรา

 

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การสำรวจข้อมูลทั่วโลกในช่วงต้นปีนี้ โดยเราได้เชิญให้โรงพยาบาลต่างๆ ร่วมให้ข้อมูลได้จนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม เราขอให้โรงพยาบาลตรวจสอบศักยภาพของตนในด้านการควบคุมการติดเชื้อโดยใช้เครื่องมือสองอย่างด้วยกัน เครื่องมือแรก ได้แก่ กรอบการประเมินการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (Infection Prevention and Control Assessment Framework หรือ IPCAF) ซึ่งจัดทำขึ้นโดย WHO และศูนย์ความร่วมมือของ WHO เครื่องมือที่สองเป็นเครื่องมือที่เราเคยใช้มาแล้วหลายปี ได้แก่ กรอบการประเมินตนเองเกี่ยวกับสุขอนามัยของมือโดย WHO (WHO Hand Hygiene Self-Assessment Framework) ซึ่งใช้ในการตรวจสอบศักยภาพของแต่ละสถาบันในด้านการส่งเสริมสุขอนามัยมือ แบบสำรวจนี้สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ 

 

 

กรอบการประเมินตนเองเกี่ยวกับสุขอนามัยของมือโดย WHO จัดทำขึ้นในปี 2010 และได้รับการรับรองความถูกต้องในปี 2011 และถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในปี 2011 เราได้ทำการสำรวจข้อมูลจากทั่วโลก โดยพิจารณาในส่วนของศักยภาพของโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วโลกในด้านการส่งเสริมสุขอนามัยมือ จากนั้น เราได้ทำการสำรวจซ้ำในปี 2015 และอีกครั้งในปีนี้ เพื่อเปรียบเทียบวิธีในการปรับปรุงศักยภาพของสถาบันต่างๆ ในการส่งเสริมสุขอนามัยมือ ซึ่งเราก็เห็นได้ถึงทิศทางที่ดีขึ้นจากหลายๆ ที่! การเปรียบเทียบข้อมูลจากปี 2011 และ 2015 ทำให้เราเห็นว่า สถาบันต่างๆ ทั่วโลกมีศักยภาพที่ดีขึ้นในด้านการส่งเสริมสุขอนามัยของมือ และเราหวังที่จะได้เห็นการปรับปรุงที่ดียิ่งขึ้นไปอีกในปี 2019 นี้ ผมเองเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า นี่คือสิ่งที่เราจะเกิดขึ้นจริงๆ อย่างน้อยก็จากที่ผมได้สัมผัสด้วยตนเองจากโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วโลกที่ผมมีโอกาสได้เข้าไปตรวจเยี่ยม

  

คำถาม #4 จากไดเวอร์ซี่: แล้ว WHO จะใช้ข้อมูลนี้อย่างไรต่อไปคะ

 

ศาสตราจารย์ ดิดิเยร์ พิเทต์: WHO จะจัดทำรายงานแบบไม่ระบุชื่อขึ้นมา โดยเราจะไม่ระบุชื่อของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมการสำรวจใดๆ ทั้งสิ้น แต่รายงานนี้จะยังคงช่วยให้เราสามารถระบุช่วงคะแนนเฉลี่ยได้ ความคิดของเราก็คือ การมองเห็นภาพรวมของสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อให้รู้ว่า เราจะสามารถปรับปรุงสถานการณ์ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร เมื่อไร และมากน้อยเพียงใด โดยพิจารณาตามประเทศหรือภูมิภาคต่างๆ ของโลก 

 

 

ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ระบุชื่อโรงพยาบาลโดยตรง แต่เราสามารถดูได้ว่า โรงพยาบาลนี้อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ในกานา ในนิวยอร์ก หรือในฮ่องกง เราจึงสามารถเห็นภาพได้ว่า โรงพยาบาลในภูมิภาคนั้นๆ มีการปรับปรุงดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะทำให้ทราบได้ว่า โรงพยาบาลนั้นๆ อยู่ที่ระดับใด แค่กลางๆ หรือระดับบน ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือ โรงพยาบาลจะทราบว่า ยังมีจุดที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีก ดังนั้น เครื่องมือเหล่านี้ รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ จึงช่วยให้โรงพยาบาลสามารถปรับปรุงการดำเนินการให้ดีขึ้นได้ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราต้องการ 

 

คำถาม #5 จากไดเวอร์ซี่: ดิฉันอยากให้ศาสตราจารย์ลองบอกว่า ทำไมสถานพยาบาลควรที่จะเข้าร่วมการสำรวจนี้ และทำไมถึงควรให้ข้อมูลกับการสำรวจนี้คะ

 

ศาสตราจารย์ ดิดิเยร์ พิเทต์: อย่างแรกที่ชัดเจนที่สุดเลยนะครับ เครื่องมือเหล่านี้มีไว้เพื่อประโยชน์ของสถานพยาบาลนั้นๆ ผมเองก็ใช้เครื่องมือนี้กับโรงพยาบาลที่ผมทำงานอยู่เป็นประจำทุกปี ถึงแม้ว่าเราจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลที่ดีที่สุดของโลกในด้านการส่งเสริมสุขอนามัยมืออยู่แล้วก็ตาม ผมสามารถพูดได้เลยว่า การใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อตรวจสอบการปรับปรุงต่างๆ ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เรากำลังมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง จริงๆ แล้ว การที่โรงพยาบาลควรตรวจสอบศักยภาพของตนเองในด้านการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ รวมถึงศักยภาพในการส่งเสริมสุขอนามัยมือ เหตุผลสำคัญที่สุดก็คือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตัวโรงพยาบาลเอง 

 

 

หลังจากที่ให้ข้อมูลในแบบสำรวจแล้ว โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะได้รับการประเมินคะแนน คุณอาจจะได้ 350 คะแนน หรือ 420 คะแนน ก็แล้วแต่ แต่คุณก็สามารถที่จะเปรียบเทียบคะแนนของตนเองกับผลการสำรวจจากปีอื่นๆ ได้ ในหลายๆ ประเทศ เช่น อิตาลี ออสเตรเลีย และโรมาเนีย เราเคยมีการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ไปแล้ว ดังนั้น โรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถที่จะเปรียบเทียบผลงานของตนเองกับโรงพยาบาลอื่นๆ ได้ ซึ่งมีประโยชน์มาก ระบบนี้คล้ายๆ กับเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบโรงพยาบาลของคุณเองกับโรงพยาบาลอื่นๆ จากทั่ว่โลก หรือจากภูมิภาคเดียวกัน หรือจากเฉพาะในประเทศของคุณ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเผยแพร่ในรายงานอย่างเป็นทางการก่อนหมดปีนี้ (2019)

 

คำถาม #6 จากไดเวอร์ซี่: ในฐานะที่คุณเป็นหนึ่งในคณะทำงานและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มองค์กรเอกชนเพื่อความปลอดภัยของคนไข้ (Private Organizations for Patient Safety หรือ POPS) ของ WHO ทำไม POPS จึงมีความสำคัญในความคิดของคุณ

 

ศาสตราจารย์ ดิดิเยร์ พิเทต์: ไอเดียนี้เกิดขึ้นจากการที่บริษัทมากมายหลายแห่งทั่วโลกถามผมหรือถาม WHO เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพในด้านต่างๆ ดังนั้น สำหรับผมแล้ว การที่จะทำงานกับแค่บริษัทเดียวจึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งผมเองก็ไม่เคยทำเช่นนั้นและคงจะไม่ทำแบบนั้น ผมเลยเลือกที่จะทำงานร่วมกับทุกบริษัทที่สนใจจะส่งเสริมเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุขอนามัยมือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดสำหรับการทำความสะอาดมือ ทัศนคติที่ดี การสร้างความตระหนักในแต่ละประเทศ และหัวข้อการวิจัยต่างๆ เป็นต้น

 

เรามีการประชุมร่วมกับบริษัทที่เข้าร่วมกับ POPS อย่างน้อยปีละสองครั้งเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ อย่างเช่น อนาคตของโครงการ 5 พฤษภาคม โครงการทั่วไปที่เรากำลังจัดเตรียมขึ้นมา หรือหัวข้อวิจัยที่มีประโยชน์ เรามีการดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ข่าวปลอม และปรึกษากันเกี่ยวกับการจัดทำโครงการด้านมนุษยธรรมต่างๆ ร่วมกัน 

 

ช่วงที่เกิดการระบาดของโรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกเมื่อปี 2014 ทุกบริษัทดำเนินการอย่างรวดเร็วภายใน 2 สัปดาห์ในการจัดหาแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวนมาก เพื่อจัดส่งไปยังพื้นที่ระบาดในทวีปแอฟริกา ซึ่งยังขาดแอลกอฮอล์ล้างมืออยู่ เราอาจจะยังเดินหน้าโครงการทั่วไปเหล่านี้ต่อ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยที่ดียิ่งขึ้นสำหรับคนไข้และเพื่อรักษาชีวิตของคนเอาไว้ 

 

 

บางบริษัทมีจุดเด่นอยู่ที่ผู้จัดจำหน่าย บางบริษัทเน้นไปที่การวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ บางบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เป็นหลัก บางบริษัทเชี่ยวชาญในด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ดังนั้น การที่บริษัทต่างๆ มากมายมาเข้าร่วมกับ POPS จึงทำให้เราเข้าถึงพื้นที่ได้ทั่วทั้งโลก  

 

WHO ใช้ภาษาหลักทั้งหมด 6 ภาษา โดยภาษาทางการของ WHO ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย อาหรับ และจีน แต่แน่นอนว่า เราต้องการภาษาที่หลากหลายกว่านั้นในการสื่อสาร เราต้องการสื่อสารเป็นภาษาสโลวัก เราต้องการภาษาแอฟริกา เราต้องการภาษาอินโดนีเซีย และภาษาอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่ง POPS ทำให้เราสามารถสื่อสารออกมาในภาษาที่เราต้องการได้ ในปีที่แล้ว เรามีการทำงานใน 192 ประเทศจากทั้งหมด 194 ประเทศบนโลก ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จจากการที่บริษัทต่างๆ ร่วมกันทำงานเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายเดียวกัน

 

 

ไดเวอร์ซี่: ดิฉันอยากให้คุณอธิบายเพิ่มอีกสักนิดเกี่ยวกับบทบาทของ POPS ค่ะ

 

บทบาทของ POPS สำคัญมากๆ ครับ โดย POPS คอยจัดหานักทำกราฟิกและนักการตลาดดิจิตอล ซึ่งทำหน้าที่แลกเปลี่ยนไอเดีย แปลสื่อออกมาเป็นภาษาต่างๆ และอีกหน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การช่วยกระจายสื่อต่างๆ ออกไปทั่วโลก 

 

สมาชิกรายหนึ่งของ POPS เคยพูดในที่ประชุมของเราว่า แค่บริษัทเดียวไม่สามารถที่จะทำงานครอบคลุมทั้งโลกได้ บางบริษัทอาจจะคุ้นเคยกับการทำงานในอินโดนีเซียมากกว่า บางบริษัทอาจจะเชี่ยวชาญภูมิภาคยุโรปเหนือ บางบริษัทก็อาจจะรู้เรื่องในละตินอเมริกามากกว่า ดังนั้น การที่เราทำงานร่วมกันจึงทำให้เราทำงานได้อย่างครอบคลุมทั่วทั้งโลก นี่คือหัวใจสำคัญเลย เพราะคนที่ทำงานให้กับบริษัทต่างๆ เหล่านี้ คือผู้ที่เข้าไปยังโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ ทั่ว่โลก เพื่อกระจายเอกสารข้อมูลต่างๆ ที่เราจัดทำขึ้นที่ WHO ไปยังสถานที่เหล่านี้ 

 

 

บางโรงพยาบาลอาจจะมีพยาบาลพาร์ทไทม์แค่คนเดียวคอยดูแลเรื่องการควบุคมการติดเชื้อ ซึ่งก็อาจจะทำให้ไม่มีเวลามานั่งอ่านข้อมูลของโครงการในปีนี้ หรือแม้แต่ไม่มีเวลาจะอ่านสโลแกนของโครงการด้วยซ้ำ และถึงแม้จะมีเวลาอ่าน ก็อาจจะไม่ได้มีเวลาว่างจะปรินต์โปสเตอร์ออกมา 100 ใบสำหรับติดบนผนังทั่วโรงพยาบาล ซึ่งนี่คือจุด POPS เข้ามามีบทบาทสำคัญ 

 

คงพอจะเห็นแล้วว่า เราได้สร้างการขับเคลื่อนที่มีความเฉพาะตัวมากๆ และก็ประสบความสำเร็จมากด้วยเช่นกัน แต่มีอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การที่บริษัทต่างๆ แชร์เรื่องราวนี้บนโซเชียลมีเดีย การสัมภาษณ์วันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีนะครับ ปัจจุบัน โครงการของเราถูกขับเคลื่อนผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นหลัก แล้วมันก็สำเร็จซะด้วย! ปีที่แล้ว โครงการของเราเข้าถึงผู้คนจากที่ต่างๆ มากกว่า 250 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่า บริษัทเดียวไม่มีทางทำแบบนี้ได้แน่ๆ ที่เราประสบความสำเร็จก็เพราะทุกคนช่วยกันทำงานร่วมกัน   

 

คำถาม #7 จากไดเวอร์ซี่: คุณมีอะไรอยากจะบอกกับผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาลและอาจจะกำลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้อยู่ในตอนนี้ไหมคะ 

 

 

ศาสตราจารย์ ดิดิเยร์ พิเทต์: ก่อนอื่น ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งตัวท่านผู้อ่านเองและสถาบันที่ท่านทำงานอยู่ได้เข้าร่วมการสำรวจข้อมูลทั่วโลกของเราแล้ว แต่ถ้ายัง ท่านยังมีเวลาที่จะตอบคำถามสำรวจและยังสามารถลงทะเบียนโรงพยาบาลของท่านในระบบฐานข้อมูลของ WHO ได้อยู่ ท่านสามารถดูคะแนนของตัวเองและวางแผนการดำเนินการภายในสถานพยาบาลของท่านได้หลังจากที่เห็นคะแนนแล้ว

 

 

นอกจากนั้นแล้ว แน่นอน ผมอยากขอให้ทุกท่านเข้าร่วมในโครงการ 5 พฤษภาคมของเรา เวลาที่ผมพูดถึง “โครงการ 5 พฤษภาคม” ของเรา ปกติแล้ว เรามักจะจัดกิจกรรมกันทั่วโลก โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 หรือ 2 พฤษภาคมไปจนถึงวันที่ 10 หรือ 15 พฤษภาคม ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ซึ่งวันที่ 5 พฤษภาคม ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นวันสำคัญของหลายๆ ประเทศอยู่แล้ว สำหรับปีนี้ วันที่ 5 พฤษภาคมนั้นตรงกับวันอาทิตย์ อย่างในกรุงเจนีวาของเรา จะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง “5 พฤษภาคม” ขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม ผมจะจัดห้องเรียนออนไลน์ผ่านทาง Webber ไปยังทั่วโลกในวันที่ 3 จากนั้นจะทำการบรรยายในกรุงเจนีวาในวันที่ 4 ส่วนวันที่ 5 พฤษภาคม ผมจะโปรโมทและตอบคำถามบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงวันที่ 6 ด้วยเช่นกัน

 

ฉะนั้น “วันที่ 5 พฤษภาคม” จริงๆ แล้ว จึงหมายถึงการที่เรามาร่วมเฉลิมฉลองสุขอนามัยมือด้วยกันทั้งก่อนและหลังวันที่ 5 และที่สำคัญกว่านั้น เรายังมีเครื่องมือและกิจกรรมต่างๆ ที่คุณสามารถนำไปใช้และทำได้ตลอดทั้งปี ซึ่งนี่แหละที่เป็นสิ่งสำคัญมาก

 

ปีนี้ เรายังเสนอให้จัดกิจกรรมจับมือสามัคคีด้วยเช่นกัน โดยครั้งแรกจะจัดขึ้น ณ อาคารสำนักงาน WHO ในวันอนามัยโลก (5 เมษายน 2019) รวมทั้งยังขอให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดกิจกรรมจับมือสามัคคีตลอดทั้งปี เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สุขภาพสำหรับทุกคน และโครงการ “ดูแลความสะอาดเพื่อทุกคน ทุกอย่างอยู่ในมือของคุณ” ในปีนี้ 

 

 

ไดเวอร์ซี่ขอขอบคุณศาสตราจารย์ ดิดิเยร์ พิเทต์เป็นอย่างสูงที่สละเวลามาพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อสำคัญเหล่านี้ร่วมกับเรา ลูกค้าของเรา และผู้อ่านของเรา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานพยาบาลทุกแห่งจะเข้าร่วมโครงการนี้ ร่วมให้ข้อมูลในการสำรวจ และร่วมกิจกรรมจับมือสามัคคีในเดือนพฤษภาคมนี้